SOAT NEWS & ACTIVITIES

งาน The 19th Asian Actuarial Conference ณ โรงแรงแชงกรีล่า


"คุณกรณ์ จาติกวณิช" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ปาฐกถากับสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ไว้ดังนี้

“ผมเชื่อว่าเราต้องการนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมากขึ้นกว่าเดิม ที่ผมบอกแบบนี้ก็เพราะผมเห็นว่าสังคมเรานั้น very short-term focused เกินไป ทุกวันนี้คนสนใจแต่การแก้ปัญหาระยะสั้น โดยไม่มีใครสนใจที่จะมองการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเพียงพอ เราจึงต้องการคนที่ไม่หลงตามกระแส ไม่หลงตามประชานิยม แต่มองภาพไปที่ระยะยาว โดยสรุป เราต้องการนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

จากประสบการณ์ของผม ทั้งในภาครัฐบาลและในภาคธุรกิจ ผมสามารถบอกได้ว่าแนวคิดที่มองไปที่ ข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่านั้นที่จะช่วยจัดการความเสี่ยงและทำให้อยู่รอด โดยเป็นตัวแบ่งแยกระหว่างความสำเร็จออกจากความล้มเหลว

ผมได้ผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดกับประเทศไทยหลายครั้งในช่วงการทำงาน 20 ปีที่ผ่านมาของผม เราสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดีทุกครั้ง ถ้าเราให้ความสำคัญกับข้อมูลที่มีอยู่ให้มากพอ เคยเกิดวิกฤตการเงินซึ่งบางคนคงจำกันได้ในช่วงปี พ.ศ. 2540 โดยก่อนที่จะเกิดวิกฤตนี้ ได้มีนักวิเคราะห์ได้ออกมาเตือนล่วงหน้าก่อนเป็นเวลา 3 ปีเต็มๆ แต่คนทั่วไปเลือกที่จะไม่สนใจกับคำเตือนนี้

และก็อีกครั้งในปี พ.ศ. 2554 ที่เกิดน้ำท่วมซึ่งธนาคารโลกได้ประมาณความเสียหายของประเทศไทยถึง 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้ถูกจัดอันดับเป็นความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์ของโลกตั้งแต่ที่เคยมีการเก็บสถิติมหันภัยมา

คำถามคือ น้ำท่วมของประเทศไทยนี้ เป็นการเกิดจากธรรมชาติโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย หรือ เราสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าได้หรือไม่

หลังจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งใน ปี พ.ศ. 2540 เราได้มีการปรับปรุงการกำกับดูแลในเรื่องงบประมาณและการตรวจสอบสถาบันการเงินให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถพัฒนากระบวนการต่างๆ เหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นมาได้ตั้งแต่แรก (วัวหายล้อมคอก) และในปี พ.ศ. 2551 (hamburger crisis) ที่เป็นวิกฤตการทางการเงินของโลกอีกครั้ง จะเห็นว่ามันมีผลกับทางฝั่งโลกตะวันตกเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบกับสถาบันการเงินในฝั่งเอเชียเท่าใดนัก ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์ในประเด็นนี้ได้ว่าการพัฒนาในเรื่องการกำกับดูแลของเรานั้นได้ผล และถ้าเราทำมันขึ้นมาก่อน พ.ศ. 2540 ก็คงจะไม่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำยุ้ง เป็นแน่

และก็เป็นที่เชื่อกันว่าถ้าหน่วยงานทุกฝ่ายเข้าใจข้อมูลและได้มีการวิเคราะห์เรื่องน้ำกันอย่างดีพอ เราก็คงจะหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในไทยได้เป็นแน่

คำถามคือ ในปีพ.ศ. 2540 วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งนั้น นักคณิตศาสตร์ประกันภัยได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการประเมินวิเคราะห์ความเสี่ยงในอนาคตหรือไม่? หรือ policymaker (ผู้กำหนดนโยบาย) อย่างผมที่ทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ? หรือ policymaker (ผู้กำหนดนโยบาย) ตัดสินใจกันผิดพลาดจากข้อมูลที่ได้จากนักคณิตศาสตร์ประกันภัย? หรือเป็นเพราะเราไม่สามารถมีข้อมูลที่ดีพอ?

ในความคิดของผม ผมว่าเป็นความผิดพลาดของทั้งสองฝ่าย ในส่วนของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย เราไม่ได้ขาดข้อมูลแต่เราขาดการนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รู้ตัว ในส่วนของระดับนโยบายเองที่ยิ่งแย่ไปกว่า ผมบอกได้ว่าเรามีข้อมูลที่วิเคราะห์เอาไว้เพียงแต่ขาดการนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจแต่ละอย่าง โดยเฉพาะการตัดสินใจแต่ละอย่างส่วนใหญ่เกิดจากการหวังผลทางการเมืองในระยะสั้นเสียมากกว่า

มันไม่ใช่ความผิดของนักการเมือง แต่มันเป็นเรื่องของการจัดการความคาดหวังของประชาชนกับนักการเมืองเสียมากกว่า เช่น เหตุกาณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากน้ำท่วมใหญ่ไปแล้ว 1 ปี โดยในตอนนั้นทางภาครัฐได้ตัดสินใจที่จะลดระดับน้ำในเขื่อนลง ทั้งๆ ข้อมูลระบุออกมาชัดเจนอยู่แล้วว่าหลังจากน้ำท่วมไปแล้ว 1 ปี (พ.ศ. 2555) จะเกิดภาวะแล้งขึ้น และแล้วในปี พ.ศ. 2555 นั้นก็เกิดภาวะแล้งครั้งใหญ่ขึ้นจริง โดยที่น้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ

คำถามคือนักการเมืองตัดสินใจอย่างไม่มีเหตุผล หรือเป็นเพราะไม่ยอมเชื่อในข้อมูลจากนักวิเคราะห์กันแน่ ซึ่งในคำตอบนั้น จริงๆ แล้วเป็นเพราะความเสี่ยงทางการเมืองมากกว่า เนื่องจากรัฐบาลไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขึ้นมาซ้ำรอยเดิม โดยถึงแม้ว่าภาวะแล้งจะแย่ แต่ก็ถือว่าเป็นปัญหาใหม่ ซึ่งจะไม่มีใครกล่าววิพากษ์วิจารณ์กันเท่าไร แต่ลองคิดดูว่า ถ้าเกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำรอยอีกครั้ง อันนั้นประชาชนคงจะรับไม่ได้เป็นแน่

ดังนั้น นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะทำให้รู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่ให้นั้นจะทำให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะถ้าคนที่เอาข้อมูลเหล่านั้นไปตัดสินใจ แล้วปรากฎว่าออกมาผิดทาง (เช่น ปรากฎว่าไม่มีภาวะแล้ง แต่เกิดน้ำท่วมซ้ำรอยแทน) ก็จะมีผลทางการเมืองอย่างมากกับคนที่ตัดสินใจ

หรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะทำอย่างไรที่จะผลักดันให้ policymaker (ผู้กำหนดนโยบาย) ได้ตัดสินใจบนการพยากรณ์หรือจำลองอนาคตถึงภัยพิบัติล่วงหน้า ทั้งๆ ที่รู้ว่า ถ้าทำแล้วก็จะยังไม่เห็นผลลัพธ์ในทันที (แต่จะเกิดในระยะยาว ซึ่งผู้กำหนดนโยบายตอนนั้นอาจจะเปลี่ยนคน และปิดทองหลังพระไป)

ในความเห็นของผม ผมคิดว่าคำตอบนั้นคือ ผู้กำกับดูแล (regulator) ซึ่งเป็นคนที่ใช้อำนาจกฎหมายระหว่าง policymaker (ผู้กำหนดนโยบาย) และ นักวิเคราะห์ นักวางระบบ เช่น นักคณิตศาสตร์ประกันภัย เป็นต้น

ธนาคารกลาง (ธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นตัวอย่างที่ดี ที่วิเคราะห์ความเสี่ยงในตลาดการเงิน และออกมาสื่อสารกับสาธารณะ พร้อมทั้งเตือนเรื่องอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบการเงินของประเทศ ซึ่งถ้าภาคธนาคารก้าวกระโดดเร็วเกินไป ธนาคารกลางก็จะออกมากำกับให้ใกล้ชิดขึ้น หรือถ้าการผู้ยืมมีมากเกินไป ธนาคารกลางก็จะออกมาขึ้นดอกเบี้ย

ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแล (regulator) จึงเกิดขึ้นมา เพราะการตัดสินใจในทิศทางของประเทศเหล่านี้ไม่ควรตกอยู่ในมือของนักการเมืองแต่เพียงผู้เดียว

ยังมีหลายๆ อย่างที่ หน่วยงานกำกับทั้งหลายต้องใช้ความพยายามเพื่อที่จะสร้างการเชื่อมต่อระหว่างบทวิเคราะห์ของนักคณิตศาสตร์ประกันกันภัยกับการตัดสินใจทางการเมือง เพราะถ้าเราล้มเหลวที่จะสร้างการเชื่อมต่อเหล่านี้ ประเทศของเราคงจะเผชิญกับความลำบากในอนาคตข้างหน้าเป็นแน่ และสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ประเทศไทยแห่งเดียวที่ต้องเผชิญ แต่มันเป็นเรื่องท้าทายกับประเทศในแถบเอเชียทั้งหมด ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี พ.ศ. 2540 นั้น เราได้เชื่อมโยงกัน เพราะการกำกับดูแลได้พัฒนาขึ้นแล้ว

ขออนุญาตยกอีกตัวอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับปัญหาประชากรศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย โดยไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ไทยเองก็แทบจะไม่ได้เตรียมการอย่างเพียงพอ เรื่องปัญหาสวัสดิการหลังการเกษียณอายุจะอยู่กับประเทศไปอีกนาน และนี่ไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาในระดับการเมือง แต่จะมีผลกระทบกับสังคมเราอย่างมาก โดยภายในอีก 20 ปีข้างหน้า ไทยเรากำลังจะเปลี่ยนจาก “คนทำงาน 4 คน ต่อ คนสูงอายุ 1 คน” กลายเป็น “คนทำงาน 2 คน ต่อคนสูงอายุ 1 คน” และเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมตัวกันตั้งแต่วันนี้

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือเรื่องน้ำ ที่ไม่ใช่น้ำท่วม แต่เป็นเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำที่ขาดแคลน จะมีต้นไม้หรือพืชเศรษฐกิจชนิดไหนที่ควรปลูกในสถานการณ์ที่น้ำเป็นสิ่งหายาก ควรจะปลูกมันที่ไหน คำถามเหล่านี้ยังเป็นประเด็นที่รอคำตอบอยู่

ในบางครั้งคราว ที่วิชาชีพคณิตศาสตร์ประกันภัยและ policymaker (ผู้กำหนดนโยบาย) ได้ทำงานร่วมกัน โดยจากนโยบายที่ผ่านมาที่ผมได้รับผิดชอบในช่วงสมัยปี พ.ศ. 2554 นั้นคือการประกันพืชผล โดยเอาเรื่องความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศออกไปจากการทำการเกษตร และเพิ่มความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในวงกว้างเท่าไรนัก เพราะความเสี่ยงควรที่จะต้องถูกกระจายออกไปให้เพียงพอมากกว่านี้ เพื่อให้เบี้ยประกันภัยอยู่ในระดับที่รับได้

แต่ผมเชื่อว่าประเทศไทยในอนาคตจะสามารถก้าวผ่าน “กับดักรายได้ปานกลาง” ไปได้ ถ้าเราสามารถจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อการนั้น ไม่เพียงแต่เราจะต้องพัฒนาวิชาชีพคณิตศาสตร์ประกันภัยให้มีมาตรฐานและจำนวนมากเพียงพอ แต่เรายังจะต้องสร้างความชัดเจนระหว่างวิชาชีพคณิตศาสตร์ประกันภัย กับกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ของประเทศ และถ้าเราทำให้มันสำเร็จได้ เราจะพัฒนาประเทศไปด้วยกัน ...ด้วยข้อมูลและตัวเลขที่เหมาะสม”

Credit : งาน The 19th Asian Actuarial Conference ณ โรงแรงแชงกรีล่า 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2558