ข่าวและกิจกรรมสมาคม

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ เป็นเกียรติกล่าวเปิดงาน IFoA Asia Conference 2018


สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ได้เรียนเชิญ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ เป็นเกียรติกล่าวเปิดงาน IFoA Asia Conference 2018 ของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งสหราชอาณาจักร ที่จัดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล โดยในวันงานมีนักคณิตศาสตร์ทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 400 ท่าน ซึ่ง ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้กล่าวเปิดงานดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ให้ความสำคัญกับวิชาชีพคณิตศาสตร์ประกันภัย เนื่องจากมีหน้าที่สำคัญในธุรกิจประกันภัย ในฐานะการบริหารความเสี่ยงขององค์กร การเฝ้าระวังการชำระหนี้ การกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ และการประเมินความรับผิดขององค์กร อย่างไรก็ตาม จำนวนนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในประเทศไทยนั้นค่อนข้างจำกัด  ทางคปภ. ได้ร่วมกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในการแนะนำวิชาชีพคณิตศาสตร์ประกันภัย ส่งเสริมบทบาทของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาและวิชาชีพเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพคณิตศาสตรประกันภัยในประเทศไทย

ด้วยเทคโนโลยีของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการที่เราอยู่ในยุคที่การปฏิรูปดิจิทัล (Digital Transformation) ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการของเราในการทำธุรกิจ ตอนนี้เรามักได้ยินคำต่างๆ เช่น "FinTech" และ "Insurtech" ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและสร้างประสบการณ์ของลูกค้าในภาคการเงิน อย่างไรก็ตาม ยังมีคำศัพท์อย่าง "RegTech" และ "SupTech" หมายถึง การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติตามกฎระเบียบของภาคเอกชนและการใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงการทำงานหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล  ซึ่งตอนนี้หลายๆประเทศได้ปรับใช้เทคโนโลยีนี้ให้เข้ากับการใช้งานแล้ว ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อการเติบโตที่ดี มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ดีขึ้น 

ในแง่ของการปฏิรูปการทำงานของสำนักงานคปภ.นั้น การวางกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยี อาจส่งผลลบต่อประสิทธิภาพ ตลอดจนอาจเป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรมของตลาดได้ ฉะนั้นคปภ. จึงยึดถือการจัดความสมดุลของความจำเป็นและความยืดหยุ่นอย่างรอบคอบเป็นหลักสำคัญ ตัวอย่างผลงานการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของคภป.ที่ผ่านมา ได้แก่ ประกาศเกี่ยวกับการขายและบริการประกันออนไลน์ ที่ได้มีผลตั้งแต่ปีพ. ศ. 2560 กำหนดให้บริษัทประกันภัยที่ให้บริการด้านประกันภัยออนไลน์ ให้ข้อมูลที่เพียงพอแก่ลูกค้าและรักษาระบบไอทีตามมาตรฐานที่ยอมรับ  การริเริ่มนำเทคโนโลยี Insurance Regulatory Sandbox มาใช้ ซึ่งจะช่วยให้ บริษัทประกันและบริษัททำด้านเทคโนโลยีสามารถสร้างและทดสอบบริการทางการเงินที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยในปัจจุบันมีโครงการ 5 โครงการที่ได้รับการอนุมัติในแซนด์บ็อกซ์นี้ และมีโครงการจำนวนมากอยู่ในระหว่างดำเนินการ  การเริ่มโครงการ "Insurance Bureau System" ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์ข้อมูลประกันวินาศภัยเพื่อรวมฐานข้อมูลประกันวินาศภัยเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของอุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศไทย และยังมีโครงการการพัฒนาความสามารถในการตรวจสอบด้านไอที และสนับสนุนอุตสาหกรรมประกันภัยให้มีการตรวจสอบด้านไอทีภายใน ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจในระบบธุรกิจประกันภัยที่มีความเหมาะสมและปลอดภัย

นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ทางคปภ.ได้มีการปรับปรุงตารางอัตรมรณะไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลตั้งแต่กันยายน 2560 ที่ผ่านมา การปรับปรุงตารางมรณะนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเสียชีวิตคนไทยที่มีอายุยืนมากขึ้น เนื่องการพัฒนาการรักษาทางการแพทย์ แนวโน้มความนิยมในการออกกำลังกาย และการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ดีขึ้น ส่งผลกระทบทำให้ตารางมรณะเดิม ปีพ.ศ. 2551ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของไทยได้ ในภาพรวม การปรับปรุงตารางมรณะครั้งนี้ ได้สะท้อนถึงสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน โดยที่บริษัทประกันภัยสามารถคำนวณเบี้ยประกันภัยได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น และผู้บริโภคสามารถประหยัดค่าเบี้ยได้มากถึง 35 เปอร์เซ็นต์จากเดิม

นอกจากนี้ คปภ.กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการประเมิน Financial Sector Assessment Program (FSAP)  ซึ่งจะมีขึ้นในปลายปีนี้ โดยกำลังทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ ในการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ โดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีบทบาทที่สำคัญในการประเมิน ORSA (Own Risk and Solvency Assessment) การคำนวณโดยใช้หลักการคณิตศาสตร์ประกันภัยจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของกระบวนการ ORSA ซึ่งจะประเมินความเพียงพอของการบริหารความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้ได้ภายใต้สถานการณ์ความกดดันต่างๆ นอกจากนี้ การจัดทำมาตรฐานการบัญชี IFRS17 กำลังจะมีขึ้น และประเทศไทยอาจเริ่มใช้ในราวปี พ.ศ. 2565 การจัดทำมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้จำเป็นต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในการออกแบบและตัดสินใจเลือกรูปแบบธุรกิจประกันภัย และโครงสร้างพื้นฐาน ดังนี้นประเทศไทยจำเป็นต้องมีการทำการรองรับด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial Capacity) อย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการออกกฎระเบียบและมาตรฐานการบัญชีใหม่นี้

ด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจ และปัจจัยอื่น ๆ ข้างต้น ถือเป็นโอกาสอันดีที่นักคณิตศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศจะใช้ฟอรั่มนี้เพื่อรวบรวมและแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากการทำงานรวมถึงแนวโน้ม หรือนวัตกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับงาน ซึ่งจะช่วยเสริมวิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในภาพรวม สำนักงานคปภ.หวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้นในธุรกิจประกันภัย และจะให้การสนับสนุนนักคณิตศาสตร์ประกันภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อภาคอุตสาหกรรมที่ดียิ่งขึ้นต่อไป