แบ่งออกเป็น 10 หมวด ดังนี้
ข้อ 1. สมาคมนี้ชื่อว่า "สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย" มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "The Society of Actuaries of Thailand"
ข้อ 2. สมาคมนี้มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย เลขที่ 36/1 ซอยสะพานคู่ ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 หรือ อาจตั้งอยู่ในสถานที่อื่น นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อนี้ก็ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการและมีการจดทะเบียนกับนายทะเบียนสมาคมแล้ว
ข้อ 3. พันธกิจและวัตถุประสงค์ของสมาคม คือ
- 3.1
- กำหนด ส่งเสริม และ รักษามาตรฐานของวิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยให้อยู่ในมาตรฐานสูงสุด
- 3.2
- กำหนด และรักษามาตรฐานทางด้านจริยธรรมทางวิชาชีพคณิตศาสตร์ประกันภัย
- 3.3
- ส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย และ วิชาการที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การประกันชีวิต การประกันวินาศภัย เศรษฐศาสตร์ การเงิน การลงทุน สถิติ บำนาญ และสวัสดิการพนักงาน
- 3.4
- ช่วยเหลือ หรือ ให้ข้อเสนอแนะและความเห็นทางวิชาการด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย และ วิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา บุคคลทั่วไปและองค์กร สถาบัน ทั้งภาครัฐและเอกชน
- 3.5
- เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ระหว่างสมาชิก
- 3.6
- ประสานงานและส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่อง และการพัฒนาวิชาชีพให้กับสมาชิก
- 3.7
- ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์และสามัคคีธรรมระหว่างสมาชิก
- 3.8
- ประสานงานกับองค์กร สถาบัน การศึกษา และอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศอันเกี่ยวข้องกับพันธกิจของสมาคม
- 3.9
- ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
ข้อ 4. สมาชิกของสมาคมนี้มี 6 ประเภท คือ
- 4.1
- สมาชิกประเภท เฟลโล (Fellow)
- 4.2
- สมาชิกประเภท แอสโซซิเอท (Associate)
- 4.3
- สมาชิกประเภท สามัญ (Ordinary)
- 4.4
- สมาชิกประเภท สถาบัน (Institution)
- 4.5
- สมาชิกประเภท กิตติมศักดิ์ (Honorary)
- 4.6
- สมาชิกประเภท เฟลโลกิตติมศักดิ์ (Fellow Honorary)
สมาชิกประเภทเฟลโลที่เกิดจากการโอนย้ายมาตามข้อ 4.5 ก. จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นสมาชิกประเภทเฟลโล ตามข้อบังคับฉบับนี้ โดยสมบูรณ์ภายในปี 2560 และหากไม่สามารถมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับฉบับนี้ ให้ทำการปรับโอนสถานภาพตามที่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
ทั้งนี้ ให้โอนย้ายสมาชิกที่มีอยู่ในปัจจุบันไปจัดหมวดหมู่ตามประเภทสมาชิกในข้อบังคับสมาคมชุดนี้ดังต่อไปนี้
- ก.
- สมาชิกสามัญประเภทเฟลโล เป็น สมาชิกเฟลโล
- ข.
- สมาชิกสามัญประเภทอื่น สมาชิกวิสามัญ สมาชิกพิเศษ เป็น สมาชิกสามัญ
- ค.
- สมาชิกกิตติมศักดิ์ เป็น สมาชิกกิตติมศักดิ์
- ง.
- สมาชิกนิติบุคคล เป็น สมาชิกสถาบัน
สมาชิกประเภทเฟลโลที่เกิดจากการโอนย้ายมาตามข้อ 4.5 ก. จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นสมาชิกเฟลโล ตามข้อบังคับฉบับนี้ โดยสมบูรณ์ภายในปี 2560 และหากไม่สามารถมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับฉบับนี้ ให้ทำการปรับโอนสถานภาพ ตามที่ควรจะเป็นเมื่อสิ้นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในข้อนี้
ข้อ 5. สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับการรับรอง
สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย จะให้การยอมรับ ในการรับสมาชิกของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยอื่นเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทยได้ สำหรับสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ต่อไปนี้
- 5.1
- สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งสหราชอาณาจักร (Institute and Faculty of Actuaries, UK)
- 5.2
- สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งสหรัฐอเมริกา (Society of Actuaries, United State of America)
- 5.3
- สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งออสเตรเลีย (Institute of Actuaries of Australia)
- 5.4
- สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งแคนาดา (Canadian Institute of Actuaries)
- 5.5
- สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (วินาศภัย) แห่งสหรัฐอเมริกา (Casualty Actuarial Society, United State of America)
คณะกรรมการสามารถพิจารณานำเสนอสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยอื่นให้เป็นสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับการรับรองตามข้อบังคับนี้ได้ โดยสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น ต้องเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ (Full membership) ของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนานาชาติ(International Actuarial Association: IAA) และผ่านการประเมินจากคณะกรรมการของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทยแล้วว่ามีมาตรฐานทางด้านวิชาชีพและมาตรฐานทางด้านจริยธรรมที่เหมาะสม การเป็นสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับการรับรองตามข้อบังคับนี้จะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ ของสมาชิกของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
ข้อ 6. หลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
- 6.1
- อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์
- 6.2
- มีสมาชิกของสมาคมรับรอง 2 ท่าน โดยเป็นสมาชิกประเภทเฟลโล (Fellow) หรือ แอสโซซิเอท (Associate) ของสมาคม การรับรองสมาชิกตามข้อนี้ จะต้องกระทำโดยสมาชิกประเภทเฟลโลหรือแอสโซซิเอทเท่านั้น สำหรับการรับรองในปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
- 6.3
- มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ สำหรับสมาชิกแต่ละประเภท
- 6.4
- ได้รับอนุมัติโดยมติที่ประชุมคณะกรรมการ
- 6.5
- ได้ชำระค่าบำรุงสมาคมแล้ว
ข้อ 7. คุณสมบัติของสมาชิกประเภทเฟลโล (Fellow)
- 7.1
- เป็นสมาชิกประเภท เฟลโล (Fellow) ของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับการรับรองตามข้อบังคับ หมวดที่ 2 ข้อ 5 จากการสอบผ่านข้อสอบ หรือได้รับการยกเว้นการสอบ รวมถึงผ่านคุณสมบัติหรือเงื่อนไขข้ออื่นๆ ของสมาคมนั้น ๆ ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเป็นสมาชิกประเภทเฟลโล (Fellow) จากการแลกเปลี่ยนหรือมีข้อตกลงระหว่างสมาคมวิชาชีพ และ
- 7.2
- ผ่านการสอบหรือการอบรมในหลักสูตรหรือวิชาที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ 8. คุณสมบัติของสมาชิกประเภทแอสโซซิเอท (Associate)
- 8.1
- เป็นสมาชิกประเภทแอสโซซิเอท (Associate) หรือเทียบเท่าของสมาคมนักคณิตศาสตร์ ประกันภัยที่ได้รับการรับรอง ตามข้อบังคับ หมวดที่ 2 ข้อ 5 จากการสอบผ่านข้อสอบ หรือ ได้รับการยกเว้นการสอบ รวมถึงผ่านคุณสมบัติหรือเงื่อนไขข้ออื่นๆ ของสมาคมนั้นๆ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเป็นสมาชิกประเภท แอสโซซิเอท (Associate) จากการแลกเปลี่ยนหรือ มีข้อตกลงระหว่างสมาคมวิชาชีพ หรือ
- 8.2
- จบการศึกษาในหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัย จากสถาบันการศึกษาที่ IAA ให้การรับรองในหลักสูตรดังกล่าว และสถาบันการศึกษานั้นต้องได้การยอมรับจากคณะกรรมการ
ข้อ 9. คุณสมบัติของสมาชิกประเภทสามัญ (Ordinary)
- 9.1
- เป็นบุคคลที่ผ่านการสอบบางวิชาของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับการรับรอง ตามข้อบังคับหมวดที่ 2 ข้อ 5 หรือ
- 9.2
- ปฏิบัติหน้าที่ทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้าน คณิตศาสตร์ประกันภัย
ข้อ 10. คุณสมบัติของสมาชิกประเภทกิตติมศักดิ์ (Honorary) และเฟลโลกิตติมศักดิ์ (Fellow Honorary)
- 10.1
- เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการเชิญเข้าเป็นสมาชิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของคณะกรรมการที่เข้าประชุม
ทั้งนี้ไม่ต้องนำหลักเกณฑ์ทั่วไปข้อ 6.2 และข้อ 6.5 มาใช้บังคับกับคุณสมบัติของสมาชิกประเภทกิตติมศักดิ์
ข้อ 11. คุณสมบัติของสมาชิก ประเภทสถาบัน (Institution)
- 11.1
- เป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับงานทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือ
- 11.2
- เป็นนิติบุคคลที่สนับสนุนกิจการของสมาคมทั้งนี้ไม่ต้องนำหลักเกณฑ์ทั่วไป ข้อ 6.1 และ ข้อ 6.2 มาใช้บังคับกับคุณสมบัติของสมาชิกประเภทสถาบัน
ทั้งนี้ไม่ต้องนำหลักเกณฑ์ทั่วไป ข้อ 6.2 และ ข้อ 6.5 มาใช้บังคับกับคุณสมบัติของสมาชิกประเภทกิตติมศักดิ์
ข้อ 12. ให้ยกเลิกการเรียกเก็บค่าบำรุงสมาคมแบบตลอดชีพที่มีก่อนการประกาศใช้ข้อบังคับสมาคมฉบับนี้ และให้เริ่มเรียกเก็บค่าบำรุงสมาคมรายปี สำหรับสมาชิกที่ได้ชำระไว้เป็นแบบตลอดชีพในปีปฏิทิน ที่ถัดจากปีที่ข้อบังคับฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่แล้วโดยกำหนดอัตรา ค่าบำรุงสมาคมรายปีดังต่อไปนี้
- เฟลโล 7,000 / ANNUM
- แอสโซซิเอท 1,000 / ANNUM
- สามัญ 1,000 / ANNUM
- สถาบัน 10,000 / ANNUM
- กิตติมศักดิ์ NIL / ANNUM
- เฟลโลกิตติมศักดิ์ NIL / ANNUM
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกประเภทเฟลโล จะต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้าเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท
เว้นแต่ผู้นั้นเป็นสมาชิกประเภทใดประเภทหนึ่งมาแล้วติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี
อัตราค่าบำรุงดังกล่าวนี้ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาปรับปรุงอัตราค่าบำรุงสมาคมรายปีได้ตามความเหมาะสม แล้วเสนอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับในเรื่อง ค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงสมาคม และเมื่อได้
จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับดังกล่าวแล้วให้เลขาธิการสมาคมแจ้งให้สมาชิกทราบต่อไป
ข้อ 13. ค่าบำรุงสมาคมรายปี ครบกำหนดชำระภายในเดือนมกราคมของทุกปี หากสมาชิกคนใดขาดชำระค่าบำรุงสมาคม ให้เป็นหน้าที่ของเลขาธิการสมาคมที่จะแจ้งให้สมาชิกทราบ
ข้อ 14. สมาชิกมีสิทธิ์ในการใช้สถานที่ สโมสร และอื่นๆ ของสมาคมตามระเบียบ ตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้
ข้อ 15. สมาชิกอาจแสดงความคิดเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวด้วยกิจกรรมของสมาคม ส่งไปยังคณะกรรมการในกรณีที่ไม่ได้รับความเห็นชอบหรือไม่พอใจผลแห่งการพิจารณา จะเสนอต่อที่ประชุมใหญ่คราวต่อไปเพื่อพิจารณาก็ได้ โดยยื่น ความจำนงเป็นหนังสือต่อเลขาธิการก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 10 วัน
ข้อ 16. สมาชิกทุกประเภทมีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญและวิสามัญได้ แต่สมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงมติในการประชุมดังกล่าวได้ จะต้องเป็นสมาชิกประเภทเฟลโล (Fellow) และสมาชิกประเภทแอสโซซิเอท (Associate) เท่านั้น
ข้อ 17. สมาชิกทุกคนต้องยอมรับและจะต้องปฏิบัติงานทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยตามมาตรฐานและจริยธรรมทาง ด้านวิชาชีพที่คณะกรรมการกำหนด และยอมรับมาตรการทางด้านวินัยหรือจริยธรรมที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ 18.
สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพเมื่อ
- 18.1
- ตาย
- 18.2
- ลาออก
- 18.3
- ถูกลบชื่อจากทะเบียน ตามข้อ 20
- 18.4
- ไม่ชำระค่าบำรุงสมาคม ภายใน 31 มีนาคม
ข้อ 19. สมาชิกผู้ใดประสงค์จะลาออกจากสมาชิกภาพต้องแจ้งความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษร ไปยังเลขาธิการของสมาคม เมื่อเลขาธิการของสมาคมได้รับแจ้งแล้วให้นำเสนอคณะกรรมการเพื่อทราบ
ข้อ 20.
คณะกรรมการสามารถสั่งลบชื่อสมาชิกผู้ใดออกจากทะเบียนได้ถ้าสมาชิกผู้นั้น
- 20.1
- ทำความผิดถึงต้องโทษจำคุกโดยพิพากษาของศาล ทั้งนี้ไม่รวมถึงความผิดลหุโทษ และความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
- 20.2
- ประพฤติตนในทางที่ทำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
- 20.3
- ปฏิบัติงานไม่สอดคล้องตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือ จริยธรรมแห่งวิชาชีพ ที่สมาคมประกาศใช้
- 20.4
- ได้รับการลงโทษจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เนื่องจากการปฏิบัติงานทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย
ทั้งนี้ คะแนนเสียงของกรรมการในการลบชื่อสมาชิกต้องมีจำนวน 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการของสมาคมที่มีอยู่ในขณะนั้น
ข้อ 21. กรรมการของสมาคมทุกคนต้องเป็นบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย หรือมีสัญญาจ้างการทำงานในประเทศไทยเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 2 ปีในวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ
ข้อ 22. ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกประเภทเฟลโล (Fellow) ให้เป็นนายกสมาคม 1 คน ผู้สมัครเข้าเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม ต้องมีสมาชิกประเภทเฟลโล (Fellow) หรือสมาชิกประเภทแอสโซซิเอท (Associate) จำนวน 2 ท่านรับรอง และผู้ที่ได้รับเสนอชื่อจะต้องอยู่ในที่ประชุม หากไม่อยู่ในที่ประชุมจะต้องมีหนังสือแสดงความยินยอมที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว หากได้รับเลือกตั้ง
ข้อ 23. ให้มีคณะกรรมการของสมาคมจำนวนไม่น้อยกว่า 8 คน โดยนายกสมาคมเป็นผู้เลือก และแต่งตั้งจากสมาชิก ประเภทเฟลโล (Fellow) หรือสมาชิกประเภทแอสโซซิเอท (Associate) หรือ สมาชิกประเภทสามัญ (Ordinary) ทั้งนี้ กรรมการของสมาคมตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จะมาจาก สมาชิกประเภทสามัญ (Ordinary) ได้ไม่เกิน 3 คน
ข้อ 24. ให้นายกสมาคมแต่งตั้งกรรมการจากคณะกรรมการของสมาคมเพื่อบริหารกิจการของสมาคมใน ตำแหน่งอุปนายกสมาคมไม่เกิน 3 คน เลขาธิการสมาคม 1 คน เหรัญญิกสมาคม 1 คน และตำแหน่งอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร
ข้อ 25. นายกสมาคมและกรรมการของสมาคมพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
- 25.1
- ตาย
- 25.2
- ลาออก ในกรณีที่นายกสมาคม หรือกรรมการของสมาคมประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งให้ยื่นใบลาออกต่อสมาคม การลาออกมีผลบังคับนับแต่ใบลาออกไปถึงสมาคม หรือตามที่ระบุไว้ในใบลาออก
- 25.3
- ครบวาระ ในกรณีที่ตำแหน่งนายกสมาคมว่างลงก่อนครบวาระ ให้อุปนายกสมาคมที่มีรายชื่อตามใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนกรรมการของสมาคมที่อยู่ในลำดับรองจากนายกสมาคมปฏิบัติหน้าที่แทน โดยให้มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับนายกสมาคม หากตำแหน่งอุปนายกสมาคมที่ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสมาคมว่างลงอีก ให้อุปนายกสมาคมที่มีรายชื่อตามใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนกรรมการของสมาคมที่อยู่ในลำดับถัดลงไปปฏิบัติหน้าที่แทน โดยให้มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกัน
- 25.4
- ขาดจากสมาชิกภาพ ถ้าตำแหน่งกรรมการของสมาคมว่างลงก่อนครบวาระ และกรรมการที่เหลือมีจำนวนน้อยกว่า 8 คน ให้นายกสมาคมหรืออุปนายกสมาคมที่ปฏิบัติหน้าที่แทนแต่งตั้งกรรมการเข้าแทนที่ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับข้อ 23 และข้อ 24 และให้กรรมการที่เข้าแทนที่นั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลือของกรรมการที่ตนเข้าแทนที่
ข้อ 26. ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาอันสมควรแก่ตำแหน่งที่ปรึกษาของสมาคมตามจำนวนซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควร มติของคณะกรรมการในการแต่งตั้งที่ปรึกษาของสมาคมต้องมีคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมการที่เหลืออยู่ในขณะนั้น ที่ปรึกษาของสมาคมไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนและอยู่ในตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการชุดที่แต่งตั้ง
ข้อ 27. คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมและมีอำนาจกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติงานเพื่อให้การปฏิบัติงานนั้นบรรลุตามพันธกิจของสมาคมได้
ข้อ 28. คณะกรรมการสมาคมดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี โดย เริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน ถึง วันที่ 31 มีนาคม ของปีที่ครบวาระ ในระหว่างการจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการของสมาคมชุดใหม่ หรือ หากกรณีจดทะเบียนล่าช้า ก็ให้กรรมการสมาคมชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่านายทะเบียนจะรับจดทะเบียนกรรมการของสมาคมชุดใหม่
ข้อ 29. นายกสมาคมมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมกิจการของสมาคมให้ดำเนินไปตามระเบียบข้อบังคับ และมติของคณะ กรรมการ และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานของสมาคม นายกสมาคมมีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน กำหนดค่า ตอบแทน ปูนบำเหน็จ และลงโทษพนักงานของสมาคมโดยมติของคณะกรรมการ นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ ตลอดจนมีอำนาจลงนามแทนสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก
ข้อ 30. ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของคณะกรรมการที่มีอยู่ในขณะนั้น โดยให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม หากนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกสมาคมตามลำดับรายชื่อที่ปรากฎในใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนกรรมการของสมาคมทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมแทน หากอุปนายกไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม และ การลงมติให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก เว้นแต่ที่กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานมี คะแนนอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ 31. การประชุมคณะกรรมการสมาคมสามารถใช้การประชุมทางจดหมายอิเลกทรอนิกส์ (E-mail) ได้ โดยการลง คะแนนเสียงและให้ใช้การตอบกลับทาง E-mail เป็นหลักฐาน และการนับคะแนนให้ใช้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับที่ 30 มาบังคับโดยอนุโลม
ข้อ 32. ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะพิจารณาแต่งตั้งสมาชิกของสมาคม ที่คณะกรรมการเห็นสมควรให้ดำรงตำแหน่ง ประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการ เพื่อศึกษา ค้นคว้าหรือวิจัยงาน หรือปฏิบัติงานแขนงใดแขนงหนึ่งหรือหลายแขนงก็ได้ หรือทำการสอบสวนทางด้านจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาชิกและนำเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการสมาคมเพื่อพิจารณา
ทั้งนี้จำนวนของคณะอนุกรรมการแต่ละคณะให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการจะเห็นสมควร และให้คณะอนุกรรมการ ที่แต่งตั้งนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการชุดที่แต่งตั้ง
ข้อ 33. คณะกรรมการมีหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดให้มี
- 33.1
- บัญชีแสดงจำนวนเงินที่สมาคมได้รับและจ่าย ทั้งรายการอันเป็นเหตุให้รับหรือจ่ายเงินทุกรายการ
- 33.2
- บัญชีแสดงจำนวนเงินและมูลค่าทรัพย์สิน และหนี้สินของสมาคม
ข้อ 34. ให้เหรัญญิกของสมาคมมีหน้าที่รับจ่ายเงินของสมาคม จัดทำ และเก็บรักษาบัญชีพร้อมด้วยใบสำคัญ และหลักฐานการรับและจ่ายเงิน การลงนามในเช็คเพื่อจ่ายเงินของสมาคม ให้นายกสมาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายกับเหรัญญิกของสมาคมลงนามร่วมกัน การรับเงินทุกประเภท เหรัญญิกหรือผู้ได้รับมอบหมายจะต้องออกใบเสร็จรับเงินของสมาคมไว้เป็นหลักฐาน การจ่ายเงินของสมาคมทุกรายการต้องมีใบสำคัญซึ่งแสดงรายการ จำนวนเงินและต้องได้รับอนุมัติจากนายกสมาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 35. การซื้อหรือจำหน่ายทรัพย์สินของสมาคมให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการสมาคม
ข้อ 36. ให้ถือวันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีของสมาคม
ข้อ 37. ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งผู้สอบบัญชีของสมาคม ผู้สอบบัญชีควรจะได้สินจ้างเท่าใด ให้ที่ประชุมใหญ่กำหนด ในกรณีที่ตำแหน่งผู้สอบบัญชีว่างระหว่างปี ให้คณะกรรมการการนัดเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกตั้งผู้สอบบัญชีใหม่
ข้อ 38. ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญปีละครั้งภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ครบรอบปีการบัญชี และคณะ กรรมการอาจจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญได้ตามมติของคณะกรรมการ หรือตามที่สมาชิกที่มีสิทธ์ในการเข้า ร่วมประชุมและออกเสียงลงมติในการประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 10 คน ทำคำร้องพร้อมลงลายมือชื่อขอให้มีการ ประชุมใหญ่วิสามัญได้
ข้อ 39. ให้คณะกรรมการแจ้งวันนัดประชุมให้สมาชิกทราบเป็นลายลักษณ์อักษร หรือทางจดหมายอิเล็คทรอนิค (E-mail) ก่อนหน้าการประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน สำหรับการประชุมใหญ่สามัญ และ การประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 40. การประชุมใหญ่ต้องมีสมาชิกที่มีสิทธิ์ในการลงมติในการประชุมเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน สมาชิกที่มีสิทธิ์ในการลงมติในการประชุม หรือมีสมาชิกที่มีสิทธิ์ในการลงมติในการประชุมเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 20 คน จึงจะถือเป็นองค์ประชุม
ข้อ 41. ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ หากนายกสมาคมไม่อยู่ ให้อุปนายกเป็นประธานแทน และหาก อุปนายกlสมาคมไม่อยู่ ให้เลขาธิการเป็นประธานแทน
ข้อ 42. ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
- 42.1
- เลือกตั้งนายกสมาคม ตามข้อบังคับ ข้อ 22
- 42.2
- เลือกตั้งผู้สอบบัญชี ตามข้อบังคับ ข้อ 37
- 42.3
- พิจารณางบแสดงฐานะการเงินของสมาคม
- 42.4
- พิจารณาอนุมัติสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับการรับรอง ตามข้อบังคับ ข้อ 5
- 42.5
- พิจารณาเรื่องคณะกรรมการที่นำขึ้นปรึกษา
- 42.6
- พิจารณาข้อเสนอของสมาชิก ซึ่งยื่นไว้โดยชอบด้วยข้อบังคับของสมาคม
ข้อ 43. สมาชิกที่มีสิทธิ์ออกเสียงลงมติในที่ประชุมใหญ่ แต่ละคนมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงคนละหนึ่งเสียงและเป็นสิทธิเฉพาะตัวของสมาชิกจะแต่งตั้งตัวแทนในการลงคะแนนมิได้
ข้อ 44. มติที่ประชุมใหญ่ให้ถือเสียงข้างมาก หากคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ 45. ข้อบังคับนี้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้ก็แต่โดยมีมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียงเห็นด้วยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่เข้าประชุมและมีสิทธิออกเสียง
ข้อ 46. ในการประชุมทุกประเภทให้เลขาธิการสมาคมเป็นเลขานุการที่ประชุมโดยตำแหน่ง มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดระเบียบวาระการประชุม บันทึกรายงานการประชุมเก็บไว้เป็นหลักฐาน หากเลขาธิการสมาคมไม่อาจทำการได้ ให้นายกสมาคมหรือผู้อื่นที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในครั้งนั้นเลือกกรรมการผู้ใดผู้หนึ่งขึ้นปฏิบัติหน้าที่แทนได้
ข้อ 47. หากสมาคมต้องเลิกไปตามกฎหมาย และมีทรัพย์สินของสมาคมเหลืออยู่ให้ตกเป็นของสมาคม หรือนิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์เหมือนหรือคล้ายคลึงกับสมาคม โดยที่ประชุมใหญ่เป็นผู้พิจารณาและลงมติเลือก